เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางทั้งการท่องเที่ยวและการค้า
กำลังประสบปัญหาด้านการจัดการขยะเช่นเดียวกับเมืองใหญ่หลายๆ เมือง แต่ละวันเฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีปริมาณขยะมากถึง
300 ตัน/วัน
ปัญหาใหญ่คือไม่สามารถคัดแยกขยะหลังจัดเก็บได้เพื่อนำไปทำลายได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าทางเทศบาลเคยมีการร้องขอให้ประชาชนจัดระเบียบการทิ้งขยะให้ถูกต้อง
โดยการคัดแยกขยะแต่ผลตอบลัพธ์ความร่วมมือนั้นไม่ค่อยดีนักอาจเป็นเพราะขยะแม้เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ทุกคนนั้นไม่เห็นคุณค่าผลลัพธ์และปัญหาที่ตามมาในอนาคต
สาเหตุใหญ่น่าจะมาจากเมืองของเรายังไม่มีการสร้างความรู้ความเข้าใจและยอมรับอย่างต่อเนื่องกับคุณประโยชน์มหาศาลจากสิ่งที่เรียกว่าขยะ
โกมิ (ゴミ) แปลว่า
ขยะ เวลาผมพานักศึกษาไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นผมมักเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับขยะ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีกระบวนการบริหารจัดการขยะได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกประชาชนส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังว่าขยะเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคม
เริ่มต้นตั้งแต่การคัดแยกขยะของทุกครัวเรือน
กระบวนการเผาทำลายหรือฝังกลบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลผลิตที่ได้จากการกำจัดขยะสมารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาลไม่ว่าจะนำมาเป็นส่วนผสมของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง
ทำถนน หรือนำมาถมทะเล เชื่อหรือไม่ครับว่าพื้นที่บริเวณอ่าวโตเกียวกว่า
1900 ตารางกิโลเมตร หรือสนามบินคันไซ ใช้ขยะถมเป็นเกาะขึ้นมา
การที่ทุกคนรับรู้เข้าใจและรับผิดชอบต่อขยะเกิดจากการที่หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้เด็กนักเรียนประถมต้องเข้าทัศนศึกษาโรงงานขยะปลูกฝังความรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก
นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบโรงงานขยะมักมีสวนสาธารณะสถานที่ออกกำลังกายหรือสระว่ายน้ำ (สระน้ำอุ่นมาจากพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาขยะ) เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้สิ่งตอบแทนที่ได้จากขยะ
แต่ละเขตก็มักมีโรงงานกำจัดขยะเป็นของพื้นที่ตนเอง เช่น
ที่โตเกียวชั้นในมี 23 เขต มีโรงงานขยะอยู่ถึง 20 เขต
หากถามว่าโรงงานกำจัดขยะที่ไหนน่าประทับใจ ผมยกให้เตาเผาขยะเขตนากะ
ฮิโรชิม่า (Naka
Incineration Plant) ออกแบบโดย
Yoshio Taniguchi ด้วยแนวคิดให้โรงงานขยะอยู่ร่วมกับผู้คนในเมืองใหญ่
เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมของโรงงานขยะที่ผสานเข้ากับบริบทของเมือง
ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธพันธ์ทางวิทยาศาสตร์ และ สถานที่พักผ่อนของประชาชน โดยตัวโรงงานขยะเองอยู่ปลายสุดของถนน Yoshijima Dori อันเป็นถนนที่เริ่มต้นจากสวนสาธารณะและอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิม่า
พื้นที่สำคัญของเมืองที่ระลึกถึงการถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่
2 ทางเมืองต้องการให้บริเวณที่ตั้งโรงงานขยะเป็นพื้นที่พักผ่อนริมน้ำแห่งใหม่แต่โรงงานเองเป็นตัวกั้นและบดบังพื้นที่ริมน้ำกับเมือง
สถาปนิกจึงออกแบบให้มีทางเดินเป็นกล่องรูปทรง 4 เหลี่ยมความยาวกว่า 400 ฟุต เสียบทะลุตัวอาคารเพื่อให้ประชาชนเดินทะลุไปยังพื้นที่ริมน้ำแห่งใหม่
โดยระหว่างทางที่เดินไปเราก็จะสามารถเห็นการจัดแสดงต่างๆ
เริ่มต้นจากพื้นที่สีเขียวบริเวณโถงแต่ที่น่าตกใจและประทับใจที่สุดคือการเห็นเตาเผาและกระบวนการกำจัดขยะที่สามารถมองเห็นผ่านกระจกบานใหญ่ดูแล้วสะอาดสะอ้านจนอดคิดไม่ได้ว่านี่คือโรงงานกำจัดขยะหรือโรงงานผลิตอาหารกันแน่
ที่ยกกรณีศึกษามาไม่ใช่ว่าเมืองเชียงใหม่ของเราต้องทันสมัยขนาดเขาครับเพราะจริงๆ
แล้วกระบวนการกำจัดขยะแบบญี่ปุ่นมีต้นทุนที่สูงมากแต่เขาคิดแบบเป็นองค์รวมทุกอย่างจึงมีมูลค่าในการนำมาหมุนเวียนกลับมาใช้
สำหรับเมืองของเรานอกจากการดูแลการกำจัดขยะของหน่วยงานรัฐให้ไม่เกิดมลพิษต่อชุมชน กระบวนการให้ความรู้กับชาวบ้านและเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญสามรถนำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้อย่างมากมาย เรียนรู้และเข้าใจเรื่องขยะในวันนี้เพื่อลูกหลานเราในวันหน้าครับ
มนต์ชัย บุญยะวิภากุล
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก pitchaya prasertwong
IN FOCUS : Better City Better Living for Better Life (บทความตีพิมพ์นิตยสาร Home Buyers Guide Chiangmai ฉบับเดือน สิงหาคม 2559)
IN FOCUS : Better City Better Living for Better Life (บทความตีพิมพ์นิตยสาร Home Buyers Guide Chiangmai ฉบับเดือน สิงหาคม 2559)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น